หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา
 






search

Training and Seminar

Articles
ใครขโมยยอดขาย? ช่วยหาที! Share



By : ชิงชัย อิทธิอมรกุลชัย
Publisher : ซีเอ็ดยูเคชั่น
Date : 26 สิงหาคม 2552
     ถ้าใครสักคนกำลังหาหนังสือสนุกๆและได้ความรู้ทางด้านการขายอ่านสักเล่ม อยากขอแนะนำ “ใครขโมยยอดขาย? ช่วยหาที!” แต่งโดยคุณชิงชัย อิทธิอมรกุลชัย นักเขียนหน้าใหม่ที่ผูกเรื่องราวได้น่าสนใจและชวนติดตามในรูปของเรื่องสั้นขนาดยาว แทนที่จะนำเสนอวิธีการขายใหม่ๆในแนววิชาการ

     เรื่องราวของหนังสือเริ่มจากตัวละครที่ชื่อนายดล ต้องการที่จะเป็นนักขายมืออาชีพและพยายามค้นหาว่า การเป็นนักขายมืออาชีพนั้นต้องทำอะไรบ้าง บทเรียนที่ได้รับในแต่ละบทล้วนได้มาจากอุปสรรคที่เกิดขึ้น การแสวงหาคำตอบจากปัญหาที่ประสบ ทำให้นายดลโลดแล่นไปตามถนนนักขายที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่แตกต่างจากชีวิตนักขายคนอื่นๆ สิ่งที่ยังทำให้นายดลยังก้าวเดินต่อไปได้ ขณะที่นักขายหลายคนล้มตัวลงนอนด้วยความละเหี่ยใจ คือความมุ่งมั่นที่ต้องการเรียนรู้และประสบความสำเร็จ

     นายดลไม่ได้เด่นกว่าคนอื่นๆ เขาเริ่มอาชีพนักขายหลังจากจบปริญญาโทสาขาการตลาด และมีความเชื่อว่าด้วยวุฒิการศึกษาที่มีอยู่ จะช่วยเป็นใบเบิกทางที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ สุดท้ายนายดลก็ค้นพบด้วยตนเองว่า ปริญญาบัตรไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ากระดาษหนึ่งใบที่มีชื่อของตนปรากฏอยู่ เขาเริ่มสงสัยในตัวเองว่า จะมีความสามารถพอที่จะเป็นนักขายได้หรือไม่ เมื่อประสบกับคำเสียดสีจากหัวหน้าของตนเองจากการที่เขาขายได้ไม่ถึงเป้า แถมยังมีโอกาสสูงที่จะไม่ผ่านการทดลองงานอีกด้วย

     เมื่อเวลาที่คนเราเจอทางตัน มีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นที่เป็นไปได้คือ ถอดใจและถอนตัวออกจากเส้นทางนั้น หรือฝ่าทางตันออกมาให้ได้ นายดลเลือกทางเลือกที่สองและนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ที่นำพานายดลไปเจอคนใหม่ๆ คำแนะนำใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ นายดลพยายามฉกฉวยโอกาสนั้นอย่างกระตือรือร้น เขาลองทำทุกคำแนะนำและกลายมาเป็นบทเรียนแต่ละบท ที่สร้างความขัดแย้งกับคนรอบข้างโดยเฉพาะหัวหน้าของเขาที่มีวิธีการขายที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว การมีวิธีการที่แตกต่างกันไม่น่าจะใช่ปัญหา เหมือนที่เขาพูดกันว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็ใช้ได้” ในความเป็นจริง “สีของแมว” มักเป็นปัญหาเสมอ เพราะเราต่างยึดมั่นในสีของแมวที่เราชอบอย่างแข็งขัน เมื่อนายดลนำแมวสีใหม่เข้ามาในองค์กร ผลคือการถูกต่อต้านและเยาะเย้ยจากผู้ใหญ่บางคน ขณะที่ผู้ใหญ่อีกหลายคนคอยดูว่า แมวสีไหนที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กร แรงเสียดทานต่อวิธีการใหม่ๆจึงสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นที่มาของความขัดแย้งในตัวละครต่างๆ ภายใต้การต่อสู้กันระหว่างความคิดใหม่และความคิดเก่าในการขาย

     หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกว่า สุดท้ายความคิดหรือวิธีการขายแบบไหนที่ดีกว่ากัน กลับมีการประนีประนอมสองความคิดการขายเข้าด้วยกัน ด้วยการเปรียบเทียบนักขายเหมือนคนขับรถเมล์ ลูกค้าคือผู้โดยสารที่เป็นคนตัดสินใจว่า จะขึ้นรถเมล์คันไหนที่ตนถูกใจ นักขายมีหน้าที่ที่จะขายให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด การยึดติดกับแนวความคิดหรือวิธีการขายแบบใดแบบหนึ่ง ดูเหมือนจะไม่เหมาะสมในยุคปัจจุบัน ที่ลูกค้ามักจะเป็นฝ่ายเลือกมากกว่าที่จะเป็นผู้ถูกเลือกโดยนักขาย

     อย่างที่ผู้เขียนในเรื่องนี้ได้เขียนไว้ในบทส่งท้ายในหนังสือเล่มนี้
     “สุดท้ายพวกเราทุกคนก็คงเหมือนนายดล ที่ต้องกลับบ้านเพื่อหาที่พักหัวใจที่บอบช้ำบ้าง หรือฉลองกับความสำเร็จให้กับตัวเองบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมารับใช้ลูกค้าเราอยู่ดี” ผมก็เช่นเดียวกัน!

line