หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา
 






search

Training and Seminar

Articles
พลิกมุมคิด พิชิตความเครียด เพื่อความสุขของคนทำงาน Share
By น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง
Published Date 16 พฤษภาคม 2553

พลิกมุมคิด พิชิตความเครียด เพื่อความสุขของคนทำงาน
โดย น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง 
จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

     อาจกล่าวได้ว่าในยุคปัจจุบัน การใช้ชีวิตของคนเรานั้นเต็มไปด้วยความเครียด มีสาเหตุมาจากนานัปการไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพ ปัญหาสังคม การเมือง และที่หลีกหนีไม่พ้นอย่างหนึ่งนั่นก็ คือ ความเครียดอันเกิดจากการประกอบอาชีพ หรือการทำงาน

     การสำรวจของเอแบคโพลล์ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ล่าสุดในหัวข้อเกี่ยวกับสภาพปัญหาของคนทำงานพบว่ากว่าร้อยละ 65 มีปัญหาความเครียดอันเกิดเนื่องมาจากการทำงาน และปัญหานี้หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องแล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ สุขภาพ หรือ แม้แต่ผลการทำงานที่ลดน้อยลง

     ซึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้จำนวนของคนทำงานที่มีภาวะโรคจิตและโรคซึมเศร้ามีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดและสุขภาพจิตของคนทำงานกลุ่มดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อนทำให้อารมณ์ร้อน หงุดหงิดและฉุนเฉียวมากขึ้น หรือลักษณะของงาน อาจเกิดขึ้นได้จากทำงานในส่วนที่ไม่ชอบ มีลักษณะงานที่ขัดกับบุคลิกภาพ หรือทำงานในส่วนที่ต้องรองรับอารมณ์คนอยู่ตลอดเวลา เช่น ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ โอเปอเรเตอร์ เป็นต้น

     องค์กรที่มีขนาดใหญ่ มักจะมีการแข่งขันกันสูงเพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือมีผลงานต่อหัวหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียดในการทำงานได้ทั้งสิ้น แนวทางแก้ไขง่ายๆ คือ ต้องมองปัญหาและความเครียดอย่างง่ายๆ นั่นคือ คิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหานั้นเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องที่ผ่านมา เดี๋ยวก็ผ่านไป ส่วนวิธีจัดการกับปัญหาสามารถทำได้ 3 วิธี คือ

1.เทคนิคการคลายเครียด
2.การช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
3.ปรับลักษณะของงานให้ไม่เครียด

ในส่วนของข้อ 2 และข้อ 3 นั้น การแก้ปัญหาอาจต้องมีหลายอย่างที่ประกอบกัน หรืออาศัยปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วย แต่ในส่วนของเทคนิคคลายเครียดจะเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำเองได้ 

วิธีแก้ปัญหาความเครียดด้วยตัวเราเอง มีหลักสำคัญก็คือจะต้องเริ่มที่การปรับความคิดของตัวเราเองก่อน 
     นั่นคือ การรู้จักมองโลกในด้านบวกหรือมองโลกในแง่ดีมากขึ้น และการมองโลกในแง่บวกนั้น มีหลักง่ายๆ 3 ข้อเช่นเดียวกัน คือ
1.เห็นบวกเป็นบวก
2.เห็นบวกในสิ่งที่เป็นลบ
3.เห็นตามธรรมดา มีเหตุปัจจัย

     การเห็นบวกเป็นบวกคือ การเห็นในสิ่งที่ดีแล้วรู้สึกดียิ่งขึ้นไปกับสิ่งนั้น อย่างเช่น เห็นเพื่อนร่วมงานมีความสุขก็มีความสุขไปด้วย หรือการได้รับคำชมจากเจ้านายแม้เล็กน้อย ก็รู้สึกดีกับสิ่งเหล่านั้น และใช้เป็นพลังผลักดันในการทำงานต่อไป

     ส่วนการเห็นบวกในสิ่งที่เป็นลบ ก็คือการเห็นสิ่งที่เป็นลบ ในมุมที่ดีขึ้น ในมุมที่ทำให้เรารู้สึกดีมากกว่ารู้สึกแย่ อย่างเช่น โดนเจ้านายดุ หรือตำหนิ ก็ต้องคิดว่าอาจจะดีในแง่ที่จะช่วยให้เราตั้งใจมากขึ้น หรือพัฒนาตนเองมากขึ้น อย่าคิดในแง่ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกท้อแท้ เสียกำลังใจ เพราะยิ่งจะบั่นทอนกำลังใจ และหมดพลังในการทำงาน รวมทั้งมีความเครียด และความกดดันมากขึ้น

     ส่วนการเห็นตามธรรมดานั้น ก็คือการเห็นในเรื่องเหตุผลที่แท้จริง หรือปัจจัยที่แท้จริง อย่างการมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ต้องมามองสภาพปัญหาที่แท้จริง อย่างมีเหตุผล และคิดพิจารณาเพื่อให้ได้ผลสรุป และยอมรับกับมันหรือสิ่งที่เป็น หรือหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งการคิดแบบนี้ต้องอาศัยการยอมรับความเป็นจริง และจิตใจที่เข้มแข็งค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ เมื่อเกิดความเครียด หรือปัญหาทุกๆ อย่าง ก็จะสามารถแก้ไข และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

     การมองโลกด้านบวกเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ แต่ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่รอช้า ยิ่งทำยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้จิตใจผ่องใส เกิดสติปัญญาแก้ไขปัญหา อุปสรรคของตนเองได้ และแม้ยังไม่มีปัญหาอะไรก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิตใจในการรับมือกับอุปสรรคหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการลดลงของความเครียดนั่นเอง

     ฟังดูไม่ยาก หากใครที่มีความเครียดในสถานที่ทำงานก็อาจจะลองนำไปปรับใช้กันดู ช่วงแรกๆ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากมีความพยายาม และเริ่มฝึกที่ตัวเองก่อน เพราะในชีวิตการทำงาน ถึงแม้ความตั้งใจและมุ่งมั่น ความพยายามที่จะทำงานให้ดีที่สุดจะเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้ามากเกินไปจนเกิดความเครียด หรือไม่สามารถจัดการกับปัญหารอบข้าง รวมทั้งความคิดฟุ้งซ่านของตัวเองได้แล้ว ความสุขในการทำงานก็คงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ชีวิตที่ทำงานแค่นั้นที่ไร้ความสุข แต่สะเทือนไปถึงชีวิตครอบครัวของทุกคนด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



line