หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา







search

Training and Seminar

Articles
เทคนิคการตั้งคำถาม เพื่อการบริหารงานอย่างสร้างสรรค์ Share
By ทัศน์ จารุศักดิ์ศรี
Published Date 16 พฤษภาคม 2553

WorkStyle Coaching: The Effective Coaching ตอน “การตั้งคำถาม ”
โดย อ.ทัศน์ จารุศักดิ์ศรี
* Upper Knowledge Executive Coach
* ผู้เชี่ยวชาญในการดึงศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยเทคนิค การประเมินบุคลิกภาพและการ coaching

     เราทุกคนเคยเป็นทั้งผู้ถามและผู้ถูกถาม มีผู้บอกว่าการตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องยากแต่การตั้งคำถามให้มีประสิทธิภาพบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไปกว่านั้นเราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คนฉลาดดูได้จากคำตอบ แต่คนหลักแหลมปราดเปรื่องดูได้จากการตั้งคำถาม” แสดงว่าคำถามมีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว

     การใช้คำถามเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการสอนงาน  หัวหน้าใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกน้องใช้ความคิด เพื่อให้ได้ทราบถึงข้อมูล รายละเอียด แนวคิด ความรู้สึกของลูกน้อง จากคำถามหลายรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น
* ทำไม?
* ใคร?
* อย่างไร?
* ที่ไหน?
* เมื่อไหร่?
* อะไร?
* ใช่หรือไม่ใช่?

     ผู้เป็นหัวหน้าเวลาที่สอนงานลูกน้อง ประโยคคำถามที่ควรหลีกเลี่ยง หรือพยายามใช้ให้น้อยที่สุดคือ ประโยคคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม?” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นคำถามเชิงพิสูจน์ ตัดสินความสามารถ ก่อให้เกิดความรู้สึก “หาเรื่อง” ระหว่างกัน อาจไปสะกิดต่อมเคืองกันเข้าจากการที่พูดจาถามตอบไม่เข้าหู ลงท้ายอาจจะกลายเป็นทะเลาะเบาะแว้งกันไป

     หัวหน้างานหลายๆ คนอาจติดปากกับคำถาม “ทำไมอย่างนั้น? ทำไมอย่างนี้?” กับลูกน้อง โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในงานหรือความผิดพลาดที่มองว่าเกิดจากลูกน้องปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง เกิดเป็นความกดดันสู่ตัวหัวหน้า คำถามที่ส่งออกมาจึงเป็นคำถามเชิงคาดคั้นและอาจจะบวกกับอารมณ์ในขณะนั้น...

* “ทำไมทำอย่างนี้นะ?
* รู้ใช่ไหมว่าทำแล้วมันจะพัง?”
*“ทำไมไม่รายงานผมก่อน?”
* “ทำไมไปตัดสินใจทำมั่วๆ แบบนั้น?”

     การแปลงประโยคคำถามให้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อะไร?” “อย่างไร?” จะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนมุมมองของผู้คนได้ดีกว่า ส่งเสริมการเดินหน้าไปหาความแตกต่างและการแก้ไขปรับปรุง ได้มากกว่าประโยคคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม?” เช่นว่าเรากำลังทำการสอนงานลูกน้องที่รู้สึกท้อถอย หมดกำลังใจในการทำงานจากปัญหาประสิทธิภาพงานที่ตกต่ำ การตั้งคำถามว่า “ทำไมมันกลายเป็นอย่างนี้ไปได้ล่ะ?” “ทำไมคะแนนผลงานถึงต่ำแบบนี้ล่ะ?” “ทำไมถึงทำได้แย่อย่างนี้นะ?” คำถาม “ทำไม…?” เหล่านี้ชักนำให้ผู้ถูกถามนึกย้อนอดีตแล้วพยายามหาข้ออ้างแก้ตัว หรือเหตุผลต่างๆ นานา มาโต้ตอบปกป้อง เข้าข้างพฤติกรรมการกระทำของตัวเองได้ง่ายๆ อาจกระทั่งหาแพะมารับกรรมแทน

“ก็ เป็นเพราะมีงานเร่งด่วนจากแผนกผลิตเข้ามามากๆ ผม เลยยุ่งมากจนไม่มีเวลามารวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ ทำให้ส่งรายงานให้ลูกค้าล่าช้า เฮ้อ...เหนื่อยเหลือเกิน...” หรือ

“ก็ เนี่ย เป็นเพราะนาย ป. จากแผนกจัดซื้อไม่ยอมส่งข้อมูลมาให้โดยเร็ว ทำให้ผมนั่งรอๆๆ ข้อมูล กว่าจะได้ครบก็กินเวลาหลายวัน พูดขึ้นมาแล้วก็น่าโมโหเสียจริงที่ทำให้ผมเดือดร้อนแบบนี้”

คำตอบลักษณะนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นแนวทางการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากรูปแบบปกติประจำวัน และกลายเป็นการสนทนาที่ไร้จุดหมาย ไร้ประโยชน์ ถ้าเราลองเปลี่ยนคำถามเป็นว่า

- “คุณเคยทำคะแนนผลงานได้ดีกว่านี้ ตอนนั้นคุณทำอย่างไรจึงได้ผลงานที่ดีเยี่ยม?” 
- “คุณจะทำอะไรให้แตกต่างจากปัจจุบันเพื่อสร้างผลงานที่ดีกลับมา?”
- “ต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากใครในงานนี้บ้าง? แล้วคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้ความร่วมมือจากคนเหล่านั้น?” 
-“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณได้วางแผนช่วงเวลาการทำงาน?”

 
     คำถามลักษณะนี้จะสามารถชักนำให้ผู้ถูกถามค้นหาคำตอบที่เป็นประโยชน์ได้ด้วยตัวเอง และจะเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์มากกว่า นอกจากคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม?” ที่ควรหลีกเลี่ยง คำถามอีกลักษณะหนึ่งที่ควรใช้ให้เหมาะสม ใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์และเท่าที่จำเป็นคือคำถาม “ใช่หรือไม่ใช่?” เป็นประโยคคำถามแบบปิด ซึ่งไม่ช่วยเพิ่มหรือขยายความคิดใดๆ คำถามลักษณะนี้จะใช้เมื่อต้องการได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือต้องการตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น

ลักษณะของคำถามที่มีประสิทธิภาพ ที่จะเสนอแนะให้ใช้บ่อยๆใน เวลาสอนงาน ได้แก่
- เป็นคำถามเปิด (แต่ต้องระวังการใช้คำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า“ทำไม?” ซึ่งเป็นคำถามเปิดอย่างหนึ่ง)
- ง่ายและชัดเจน
- กระตุ้นความคิด
- มุ่งไปที่จุดประสงค์ เป้าหมาย
- ค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์
- เปิดแนวความคิดสร้างสรรค์ ทางเลือกใหม่ๆ
- สร้างความกระตือรือร้น ความอยากรู้อยากเห็น

อย่าลืมนะครับเมื่อตั้งคำถามที่ดีกว่าก็มีแนวโน้มที่จะได้รับคำตอบที่ดีกว่าด้วย!!!


Related Workshops for further development

Questioning Skill for People Management: 
How to manage and inspire people for higher performance ทักษะการตั้งคำถามเพื่อการบริหารคน
คลิกที่นี่

WorkStyle Coaching®:
Powerful coaching & mentoring techniques for manager
คลิกที่นี่



line