หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา







search

Training and Seminar

Articles
ชุด Personality Style ตอน “ ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ จากความแตกต่างของคนในทีม” Share
By ทัศน์ จารุศักดิ์ศรี
Published Date 21 มกราคม 2553

ชุด Personality Style ตอน “ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ จากความแตกต่างของคนในทีม”
โดย อ.ทัศน์ จารุศักดิ์ศรี
* Upper Knowledge Executive Coach
* ผู้เชี่ยวชาญในการดึงศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยเทคนิค การประเมินบุคลิกภาพและการ coaching

     “ มากคน ก็มากความ ” เป็นคำกล่าวที่อาจคุ้นชินหู หรือบางคนอาจจะพูดออกมาบ่อยๆ ด้วยอาการปลงๆ การที่มีสมาชิกในทีมที่หลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา และความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จนบางคนถึงกับออกปากว่าอยากได้ผู้ร่วมทีมงานที่มีลักษณะนิสัยคล้ายๆ กัน พูดจาประสาเดียวกัน รู้เรื่องกันมากขึ้น ประมาณว่าแค่มองตาก็รู้ใจกันแล้ว

     ลองจินตนาการดูว่าถ้าสมาชิกในทีมเป็นประเภท ‘สั่งกร้าว บุกตะลุย’ กันทั้งหมด อาจจะพบว่าท้ายที่สุดต้องมาตะลุยกันเอง เนื่องจากมีแต่คนถนัด “สั่ง” และไม่มีใครยอมใคร หรือถ้าสมาชิกในทีมเป็นประเภท ‘ช้าก่อน ตรวจซ้ำให้สมบูรณ์แบบก่อน’ กันทั้งหมด อาจจะพบว่างานอาจไม่ไปถึงไหน เพราะข้อมูลและแฟ้มรายงานท่วมหัว ประชุมแล้วประชุมอีก ตัดสินใจกันไม่ได้ซักที

     หรือถ้าสมาชิกในทีมทุกคนเป็นประเภท ‘เฮฮา ปาร์ตี้’ มองอะไรก็ สนุกสนาน ง่าย ง่าย อาจจะพบว่างานสำเร็จ แต่…บังเอิญเป็นคนละงานกับที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก หรือถ้าสมาชิกในทีมเป็นประเภท ‘เกรงใจไปหมด’ ก็อาจพบว่าทุกคนเกรงอกเกรงใจกัน ละล้าละลังจนไม่กล้าออกความเห็น กลัวจะไปกระทบความรู้สึกอีกฝ่าย และไม่กล้าตัดสินใจ

     การที่เรามีสมาชิกในทีมที่มี ‘ความเหมือน’ อาจดูเบาใจในระยะเริ่มแรก แต่ก็มีความเสี่ยงของการล้มเหลวแฝงอยู่มาก ‘ความต่าง’ ของสมาชิกในทีมถึงแม้ดูเหมือนจะสร้างความปวดหัวในระยะเริ่มต้น แต่ในระยะยาว ทีมที่มี ‘ความต่าง’ จะสร้างคุณประโยชน์ต่อทีมอย่างสูง เพียงถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับ เคารพในความต่าง และรู้จักสร้างสมดุลย์ของความต่างที่มีอยู่

     บ่อเกิดของความขัดแย้ง ได้แก่ เป้าหมายที่แตกต่างกัน ผลประโยชน์ที่ขัดกัน ความเชื่อ หรือค่านิยมที่แตกต่าง พฤติกรรมส่วนบุคคล ถืออำนาจ บทบาทที่ถูกกำหนดหรือถูกคาดหวังไว้ ระดับความรู้ในข้อมูลที่ต่างกัน ทรัพยากรที่มีจำกัด เป็นต้น

     Work Style,Coaching,w'orkstyle

     มองในแง่บวก ความขัดแย้งทางความคิดจัดเป็นการเรียนรู้ของสมาชิกในทีม บ่อยครั้งความขัดแย้งเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ละคนอาจมีมุมมองที่ต่างกันไป ที่เรียกว่า ‘มองต่างมุม’ เป็นการสร้างการรับรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในทีม เปรียบเสมือนนักร้องประสานเสียง ทุกคนมีโทนเสียงต่างกัน ร้องในโน้ตที่ต่างกัน แต่เมื่อประกอบเสียงทุกสียงเข้ากันอย่างเหมาะเจาะ ลงจังหวะ จะกลายเป็นเพลงประสานเสียงที่ไพเราะน่าฟังขึ้นมาทันที เช่นเดียวกันกับมุมมองที่แตกต่างกัน นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันอย่างเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน คิดสร้างสรรค์ สร้างแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้น สุดท้ายแล้วความขัดแย้งจะกลายป็นเรื่องปรกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเป็นทีมร่วมกัน

     ตัวอย่างสัญญาณอันตรายที่สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งแบบลุกลาม-ร้าวลึก อย่างเช่น

1. การยึดติดความคิดที่ว่า “วิธีของฉันนั้นดีที่สุด” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักคิดเข้าข้างตนเอง และพยายามหาเหตุผลต่างๆนานามาประกอบความน่าเชื่อถือในวิธีของตน นั่นเป็นเพราะเรามองจากมุมของเรา จากความถนัดและความเชื่อของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายหนทางมากมายที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

     เราควรเปิดใจเป็นกลางรับฟังแนวทางใหม่ๆ จากผู้อื่น ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และทั้งทีมอาจได้แนวทางสุดท้ายที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ที่สุดก็เป็นได้ เราจึงไม่ควรปิดโอกาสการเรียนรู้และปิดทางเลือกจากความยึดติดนี้

2. ขัดแย้งในเรื่องจุกจิก เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นประจำวัน สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ อาจจะนำไปสู่ความหงุดหงิด ความตึงเครียดสะสม ด้วยความเป็นธรรมชาติของตัวเรา กิริยาการแสดงออกบางอย่างของเรา อาจจะไปทำให้ผู้อื่นรู้สึกระคายเคืองหรือหงุดหงิด หรือแม้กระทั่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว

     ในทางกลับกัน เพื่อนร่วมทีมของเราก็อาจแสดงออกบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี โดยที่เจ้าตัวอาจไม่ได้ตั้งใจ เรื่องลักษณะนี้ อาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความเครียดสะสม แต่ถ้าสมาชิกในทีมได้ทำความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของแต่ละคนแล้ว เรื่องเหล่านี้จะไม่มีอิทธิพลมารบกวนกันมากนัก ความเข้าใจซึ่งกันและกันจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น มีความเอื้ออารีและให้อภัยเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่ายขึ้น 

3. เข้าใจการแสดงออกของอีกฝ่ายผิดไป เนื่องจากใช้ตัวเราเป็นที่ตั้ง ที่จริงแล้วพฤติกรรมการแสดงออกหรือภาษาท่าทางสามารถ ‘ส่งสาร’ ให้ผู้อื่นได้แรงกว่าคำพูด จากงานวิจัย พบว่า 93% ของข้อมูลทั้งหมดถูกสื่อผ่านน้ำเสียงและภาษาท่าทาง (non-verbal language) ขณะที่ภาษาพูดสื่อความหมายออกมาได้แค่ 7% เท่านั้น

     โดยธรรมชาติแล้วเราจะอ่านการแสดงออกและตีความหมายของอีกฝ่ายโดยใช้ตนเองเป็นเกณฑ์ เช่นว่า สมาชิกในทีมที่คนช่างพูด อาจตีความว่าเพื่อนร่วมทีมที่นั่งนิ่งเงียบระหว่างการประชุมกำลังรู้สึกไม่พอใจหรือกรธอะไรบางอย่างอยู่ ที่คนช่างพูดสรุปความแบบนั้นก็เนื่องจากไปคิดเทียบกับความเป็นตนเองว่า ถ้าจู่ๆ ตนเองนิ่งเงียบแบบกระทันหัน นั่นก็เพราะตนรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธเคืองอะไรบางอย่าง ซึ่งในความเป็นจริง ผู้อื่นไม่จำเป็นต้องแสดงออกในเงื่อนไขแบบนั้น คนที่นิ่งเงียบอาจไม่ได้กำลังโกรธ คนที่นั่งอยู่ไม่สุขอาจไม่ได้กำลังรู้สึกหงุดหงิด คนที่พยักหน้าอาจไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย

4. การตีตรา ตัดสิน มากกว่าชื่นชมในความแตกต่าง การสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยศักยภาพและความสามารถที่หลากหลายของสมาชิกในทีมที่แตกต่างกัน แต่ในหลายๆ ครั้ง เรามักติดการรีบตัดสินความจากมุมมองของเรา เช่น เราอาจเห็นว่าวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลของเพื่อนร่วมทีมมีความซับซ้อน ยุ่งยาก ใช้เวลานาน อาจทำให้ด่วนสรุปไปว่าเพื่อนร่วมทีมคนนี้เป็นคนจู้จี้ หยุมหยิม เชื่องช้า แต่ไม่ได้มองถึงว่าผลลัพธ์ที่เพื่อนวิเคราะห์ออกมามีความแม่นยำ น่าเชื่อถือสูง ถ้าให้เราวิเคราะห์ ก็อาจจะไม่ได้ความแม่นยำในระดับนี้

     ในงานชิ้นต่อๆ ไป เราอาจตีตราไปแล้วว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนทำงานช้าอยู่เสมอ แทนที่จะชื่นชมในความสามารถในการวิเคราะห์เรื่องละเอียดอ่อนของเขา การมองโลกในแง่บวก ชื่นชมในด้านดีของผู้อื่น ช่วยลดความขัดแย้งและช่วยสร้างให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีได้

5. กีดกันผู้ที่เป็น ‘ตัวก่อเรื่อง’ ‘ตัวก่อเรื่อง’ อาจหมายถึงผู้ที่คิดแปลกแหวกแนวจากคนส่วนใหญ่ หรือหมายถึงผู้ที่นำเสนอความคิดที่ท้าทายผู้อื่น หลายคนมอง ‘ตัวก่อเรื่อง’ เป็นสิ่งแปลกปลอมในทีม เป็นผู้ที่สร้างปัญหาหรือจะนำความเดือดร้อนมาให้ทีม แต่ทีมที่มุ่งมั่นความก้าวหน้าต้องการ ‘ตัวก่อเรื่อง’ หลายๆ คน เพราะคนเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นทีมให้คิด วิเคราะห์ ประเมิน หลายด้านหลายมุม เป็นการลับคมความคิดของสมาชิกในทีมเป็นอย่างดี

     ถ้าทุกคนในทีมสังเกตสัญญาณอันตรายเหล่านี้ทั้งในตัวเองและในทีม และช่วยกันเตือนตน เตือนเพื่อนร่วมทีม ก็จะลดทอน ป้องกันปัญหาความขัดแย้งแบบลุกลาม-ร้าวลึก เกิดเป็นการแย้งเชิงสร้างสรรค์ได้ไม่ยาก เปิดโอกาสให้ทีมได้ใช้ศักยภาพของแต่ละคนในทีมได้อย่างเต็มที่ และทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจ


Related Arcticles
- ประเมิน สไตล์ผู้นำ...ในตัวคุณด้วย Upper STYLE People Insights

สนใจทดลองทำ Online Assessment เพื่อดู Leadership Style ของคุณ ?  คลิกที่นี่
หรือ ติดต่อ  Upper Knowledge Co., Ltd. 
Tel. 02-730-5589, 089-129-8989, 080-447-8902

Go to Homepage อ.ทัศน์ http://www.upperknowledge.com/Tatt/




line