|
Stay Hungry. Stay Foolish : Speech of Steve Jobs, CEO of Apple Computer at Stanford University |
Share
|
อรรถพล วิทยกฤตศิริกุล |
20 เมษายน 2552 |
The Blue Ocean Strategy Series Stay Hungry. Stay Foolish. Speech of Steve Jobs, CEO of Apple Computer and of Pixar Animation Studios, delivered on June 12, 2005 at Stanford University.
Address given by Steve Jobs, CEO of Apple Computer and of Pixar Animation Studios, at the 114th Commencement on June 12, 2005.
ฉบับนี้ผม ขอนำเสนอเรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ บุรุษผู้ไม่เคยทิ้งความฝันและความทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่โดนใจผู้บริโภค ซึ่งเขาเคยบอกว่า “กว่าจะรอถามความต้องการของผู้บริโภค สิ่งที่ผลิตออกมาก็ตกรุ่นไปแล้ว” ผู้พลิกมุม IT Product Offering ด้วย Style and user friendly (Emotional benefits) มากกว่า Utility เช่น Apple Computer, iPod, MacBook และ iPhone. เบื้องหน้าเต็มเปี่ยมด้วยความชื่นชม แต่เบื้องหลังคือการผ่านประสบการณ์อันขมขื่นและเปลี่ยนมันให้เป็นโอกาสเพื่อการสร้างสรรค์
Lesson 1 : Connecting the Dots (เชื่อมโยงความคิดและประสบการณ์ สู่งานสร้างสรรค์) การผ่านประสบการณ์เชิงลบ “แบบรู้จักคิด” ทำให้เขาได้เห็นอีกมุมหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ เข่น • ถูกบีบให้ออกจากงาน จากบริษัทแอปเปิล ที่เขาเคยเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ไม่ละทิ้งสิ่งที่เขารักที่จะทำ จนสามารถก่อตั้งอีก 2 บริษัทคือ NeXT และ Pixar ซึ่งโด่งดังจากการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นล้วนๆ เรื่องแรกของโลกคือ Toy Story และกลับคืนสู่ Apple ด้วย การซื้อกิจการ NeXT ของ Apple
• ไม่เคยเรียนจบปริญญา (ณ วันที่กล่าวสุนทรพจน์) เพราะลาออกหลังจากเรียนได้ 6 เดือน ในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าต้องการอะไรจากชีวิต แต่กลับตัวทันด้วยการ focus เรียนในสิ่งที่ชอบ หนึ่งในนั้นคือวิธีเขียนตัวอักษรแบบเซรีฟ (serif) แบบซานเซรีฟ (sans serif) เรียนวิธีเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษรเรียนรู้เทคนิคการเรียงพิมพ์อันยอดเยี่ยม ทำให้แมคเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เรื่องแรกในโลกที่มีตัวพิมพ์ ที่สวยงาม
• ไม่มีหอพักแล้ว ก็เลยต้องไปนอนบนพื้นในห้องของเพื่อนๆ เก็บขวดโค้กไปแลกเงินค่าคืนขวดห้าเซ็นต์ เก็บไปซื้อข้าวกิน และทุกๆ วันอาทิตย์ เขาเดินเจ็ดไมล์จากฟากหนึ่งของเมืองไปยังอีกฟากหนึ่งเพื่อไปกินข้าวดีๆ ซักมื้อที่วัด “ผมรักมันมาก การที่ผมปล่อยชีวิตไปตามความอยากรู้อยากเห็นและสัญชาตญาณ ทำให้ผมได้เจอหลายสิ่งโดยบังเอิญ”
“ไม่มีใครสามารถเชื่อมจุดจากปัจจุบันไปยังอนาคตได้ เราทำได้เพียงเชื่อมจากปัจจุบันไปหาอดีตเท่านั้น เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องมั่นใจว่าอะไรที่ทำอยู่ตอนนี้จะเชื่อมไปเองในอนาคต น้องๆ ต้องเชื่อมั่นในอะไรซัดอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณโชคชะตา ชีวิต กฎแห่งกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ความเชื่อมั่นแบบนี้ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง และมันทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปมาก”
Lesson 2 : Love and Loss จ็อบส์บอกว่า “ทำยังไงคนเราถึงได้ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เราก่อตั้งมาเองกับมือหรือครับ? คือว่าเมื่อแอปเปิลโตขึ้น เราก็จ้างคนที่เราคิดว่าเก่งมากๆ มาช่วยผมบริหารบริษัท ปีแรกเหตุการณ์ก็ราบรื่นดี แต่หลังจากนั้นวิสัยทัศน์ของเราก็เริ่มแยกทางกัน จนในที่สุดเราก็ไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้น คณะกรรมการบริษัทเลือกอยู่ข้างเขา ผมก็เลยถูกไล่ออกตอนอายุสามสิบ แล้วก็ออกแบบเป็นข่าวดังมาด้วย ในพริบตาเท่านั้น สิ่งที่ผมทุ่มเทให้ทั้งชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของผมก็สลายไป มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจผมมาก ผมไม่รู้จะทำอะไรเป็นเวลาหลายเดือน ผมเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่โด่งดัง ช่วงหนึ่งผมคิดขนาดจะหนีไปจากวงการ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มคิดได้อย่างช้าๆว่าผมยังรักในสิ่งที่ผมทำอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นที่แอปเปิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้เลย ผมถูกไล่ออก แต่ผมยังมีความรักอยู่ นั้นทำให้ผมตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ปรากฏว่าการถูกไล่ออกจากแอปเปิลกลายเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดกับผมได้ ภาระอันหนักอึ้งจากความสำเร็จแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเบาสบาย เมื่อผมกลับกลายเป็นมือใหม่ที่มีความเชื่อมั่นน้อยลง มันทำให้ผมมีอิสรภาพที่จะเข้าสู่ช่วงที่ผมมีความสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต”
Lesson 3: About death จ็อบส์ กล่าวว่า “ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันเหมือนมันเป็นวันสุดท้ายของคุณแล้วล่ะก็ วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง ผมรู้สึกประทับใจกับประโยคนี้มากตั้งแต่นั้นมากว่าสามสิบสามปี ผมมองหน้าตัวเองในกระจกทุกวัน แล้วถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมจะอยากทำสิ่งที่ผมกำลังจะทำวันนี้หรือเปล่า? แล้วเมื่อไหร่ที่คำตอบคือ ‘ไม่ ’ติดกันหลายวันผมจะรู้ตัวว่าผมต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้ว” “ความสำนึกว่าผมจะต้องตายในไม่ช้าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมรู้สึก ที่ผมใช้การตัดสินใจสำคัญๆ ของชีวิต เพราะเกือบทุดสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภูมิใจ ความกลัวการหน้าแตกและความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งสำคัญจริงๆเท่านั้น มรณานุสติเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผมรู้ เราทุกคนเปล่าเปลือยอยู่แล้วครับ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่ทำตามสิ่งที่ใจเราต้องการ”
“ประมาณหนึ่งปีก่อน หมอบอกว่าผมเป็นมะเร็งผมไปเข้าเครื่องสแกนเวลาเจ็ดโมงครึ่งตอนเช้า ผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตับอ่อนคืออะไร หมอบอกว่าเขาค่อนข้างแน่ใจว่าผมเป็นมะเร็งแบบที่รักษาไม่หาย และผมไม่น่าจะอยู่ได้นานเกินสามเดือนถึงหกเดือน หลังจากนั้นผมก็เข้ารับการผ่าตัด ตอนนี้ผมสบายดีแล้วครับ”
“ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ ขนาดคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนไปถึง ถึงกระนั้นเราทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้น ไม่มีใครเคยรอดพ้นจากมัน แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมที่ควรจะเป็น เพราะความตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติให้เรามา เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงกำจัดของเก่าเพื่อสละพื้นที่ให้กับของใหม่ ตอนนี้น้องๆ ทุกคนเป็นของใหม่ แต่ในอีกไม่นานนับจากนี้ น้องๆ จะกลายเป็นของเก่าที่ธรรมชาติต้องกำจัด ขอโทษที่อาจฟังดูเว่อร์นะครับ แต่มันเป็นความจริง”
“เวลาของน้องๆ มีจำกัด ดังนั้นอย่าทำให้มันเปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์- นั่นคือการใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่นอย่าปล่อยให้เสียงของทัศนคติคนอื่นดังกลบเสียงของหัวใจของเราเอง และที่สำคัญที่สุดคือ จงมีความกล้าที่จะเดินตามสิ่งที่หัวใจและสัญชาติญาณเรียกร้อง เพราะสองสิ่งนี้รู้อยู่แล้วว่าน้องๆ อยากเป็นอะไร ทุกอย่างที่เหลือเป็นเรื่องรองลงทั้งนั้น”
ดู Speech ต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://news.stanford.edu/news/2005/june15/grad-061505.html
ที่มา - วารสารนักธุรกิจคาทอลิก Inside นธค. - Untaugh Lessons in Universities, book, แปลโดย Sarinee Achavanuntakul
|
|
|
|