|
อะไรทำให้ตัวตนเปลี่ยน |
Share
|
ดร.นิตยา นีรนาทโกมล |
22 กุมภาพันธ์ 2552 |
อะไรทำให้ตัวตนเปลี่ยน
คำถามนี้ มาจากเพื่อนของผู้เขียนที่เข้าคอร์สอบรมผู้บริหารในองค์กรระดับประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หลายองค์กรได้หันมาใช้เครื่องมือในการประเมินคน (profiling tools) ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบ เครื่องมือโดยมาก อยู่ในรูปของแบบสอบถามทางจิตวิทยา (Psychometric) หรือการค้นหาตัวตนโดยอ่านจากคำบรรยาย คุณลักษณะของคนที่จำแนกไว้เป็นประเภท (categories) ในขณะพิจารณาประเมินตนอยู่นั้นเอง เพื่อนของผู้เขียนเกิดความสับสนว่าเขาเห็นตัวเองเป็นแบบหนึ่งในเวลานี้ แต่เป็นอีกแบบหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว อย่างนี้แบบไหนคือตัวตนของเขากันแน่ และอะไรทำให้ตัวตนเปลี่ยนไป
ก่อนอื่น เราต้องมาให้คำจำกัดความของคำว่า “ตัวตน” ก่อน เพราะแต่ละคนมีคำจำกัดความของคำคำนี้ต่างกัน เช่น บุคลิกลักษณะ (personality), คุณลักษณะประจำตัว (trait), ความคิดอ่าน (thinking preference), พฤติกรรม (behavioral preference), ทัศนคติหรือแรงจูงใจ (self-concept or motivation) ฯลฯ แบบประเมินคนก็เหมือนกัน มันก็ถูกสร้างมาให้มีหลากหลายวัตถุประสงค์ในการวัดตัวตนของคนเรา ดังนั้นความเข้าใจที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ของแบบประเมินที่จะเลือกใช้จึงมีความสำคัญมาก
เนื่องจากความหลากหลายดังที่กล่าวมา จึงเป็นการยาก ที่จะตอบคำถามแบบเหมารวมทุกรูปแบบของแบบประเมินได้ ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างแบบประเมิน Emergenetics มาใช้อุปมานในการช่วยตอบคำถามข้างบน เพราะเห็นว่า ครอบคลุมทั้งคุณลักษณะทางความคิดและพฤติกรรม (thinking and behavioral attributes) และผู้ก่อตั้งทฤษฎีนี้คือ Dr. Geil Browning ก็ได้ให้คำตอบชัดเจนในเรื่องนี้ไว้แล้ว ดังนี้
เนื่องจากบุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของคนเราเป็นการผสมผสานกันของ ธรรมชาติ (natural) คือกรรมพันธุ์ และสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเรามา (nurture) ดังนั้นผลประเมินของตัวเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้เงื่อนไขหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. มีเหตุการณ์สำคัญในชีวิต โดยปกติแล้วผลประเมินของผู้ใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยทำไว้มากนัก ยกเว้นเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในชีวิต เช่น การสูญเสียคนรัก การเปลี่ยนงาน การแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้เราต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมในการตั้งรับกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างกระทันหัน ดังนั้นพฤติกรรมของเราจะมีการเบนเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดเจน
2. อยู่ภายใต้อิทธิพลของยาเสพติดหรือสิ่งมึนเมา ซึ่งมีผลทำให้เราขาดสติและความคิดอ่านที่โปร่งใส เอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของเราย่อมไม่คงที่
3. ความตั้งใจและมีสติจดจ่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หลักการพัฒนาตนและหัวใจสำคัญที่จะทำให้สำเร็จ คือความตั้งใจมุ่งมั่นทั้งความคิด (visualization) และการกระทำซ้ำ (repeated action) ให้สม่ำเสมอและต่อเนื่องจนสมองของเราสร้างเส้นประสาท (neural pathway) ที่มีประสิทธิภาพ และกลายเป็นนิสัย
ในการทำแบบประเมิน Emergenetics จะมีคำสั่งชัดเจนให้ประเมินตนเองในขณะเวลาปัจจุบัน ไม่ให้พิจารณาว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร หรือในอดีตโดยรวมที่ผ่านมาเราเป็นอย่างไร แบบประเมินตัวตนทั่วไปควรยึดปัจจุบัน
ตามจริงแล้ว คุณลักษณะประจำตัวของคนเรา (trait) เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่พฤติกรรม (behavior) ซึ่งอยู่ภายใต้ แต่ละคุณลักษณะประจำตัวนั้นมีหลากหลาย และปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อม จึงทำให้ดูเหมือนตัวตนของคนเปลี่ยนไป ดังนั้นเราจะพบว่าในสถานการณ์ที่ตึงเครียดเร่งรัด หลายคนจะกลับไปปฏิบัติเช่นเดิม
คนเรามีความสลับซับซ้อน มากกว่าที่เราจะคาดหวังว่า แบบประเมินหนึ่ง จะบอกเราได้ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเรา สำหรับผู้เขียน แบบประเมินเป็นเพียงแต่จุดเริ่มต้น ในการทำความเข้าใจตนเพื่อการพัฒนา เมื่อเราเริ่มเปิดใจและทำความเข้าใจตัวตนมากขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวเรากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้นด้วย มาเปิดใจค้นหาตัวตนของเรากัน เพื่อการพัฒนาตนที่สร้างสรรค์และยั่งยืน
-----------------------------------------
สนใจการประยุกต์ใช้ Upper SCAN Emergenetics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทีมงานของคุณ คลิกที่นี่
สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ info@UpperKnowledge.com โทร.02-730-5589
|
|
|
|