หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา







search

Training and Seminar

Articles
No More! Wokaholics กระแสสังคมที่เปลี่ยนผัน...แห่งแดนอาทิตย์อุทัย Share
By รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Published Date 20 กุมภาพันธ์ 2552

No More! Wokaholics กระแสสังคมที่เปลี่ยนผัน...แห่งแดนอาทิตย์อุทัย
รศ. ดร. ธีรยุส วัฒนาศุภโชค
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    กล่าวถึงญี่ปุ่นพี่เบิ้มแห่งเอเชีย คงไม่แคล้วต้องนึกถึงประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ นวัตกรรมแปลกแหวกแนวที่ไม่มีใครเหมือน รวมถึง บุคลากรชั้นยอดที่ทุ่มเททำงานแบบไม่ลืมหูลืมตา เรียกว่าจากการสำรวจของสำนักต่าง ๆ มนุษย์เงินเดือนแดนซากุระมี ชั่วโมงทำงานสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกครับ

    ดังเช่นตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง นามว่าคุณ ยามากูชิ ที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายออกแบบของบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในโตเกียว ซึ่งท่านนี้ทำงานถึงกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวันทีเดียวครับ โดยแทบจะไม่เคยกลับบ้านก่อนสี่ทุ่มเลย เสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดต่าง ๆ ก็ไปทำงานเป็น เรื่องปกติ คุณยามากูชิก็เปิดเผยว่าที่ตนเองต้องทำงานหนักขนาดนี้ ก็เนื่องมาจากตนต้องรับผิดชอบอีกถึง 4 ชีวิตใน ครอบครัว ทั้งภรรยาและลูก ๆ ทั้งสาม ดังนั้นการทุ่มเทกับงานจึงเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวของเขาด้วย และเพื่อน ๆ ร่วมงานทั้งหลายก็ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกัน ซึ่งไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนัก

    จนกระทั่งวันหนึ่ง มนุษย์เงินเดือนท่านนี้มีโอกาสได้ไปร่วมงานประจำปีของโรงเรียนลูก ซึ่งเรียกว่าแทบจะไม่ มีเวลาได้ไปเข้าร่วมเลย แต่ในปีนี้จับผลัดจับผลูถูกบังคับกลาย ๆ ให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ปรากฏว่าเป็นจุดผกผันของ ชีวิตตนเองไปอย่างสิ้นเชิง โดยคุณยามากูชิได้พบปะกับพ่อ ๆ คนอื่น ที่มาร่วมกิจกรรม และเกิดความประทับใจอย่างมาก ถึงความผูกพัน ความรู้สึกดีดีที่เกิดจากกิจกรรมที่ให้พ่อลูกร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันปรุงอาหาร การแท็คทีมแข่งขันแบบพ่อลูก ฯลฯ ซึ่งพ่อลูกคู่ต่าง ๆ รวมถึงของตัวเอง ได้รับความรู้สึกประทับใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานมาก ๆ จนหลงลืมไป แล้วว่าความผูกพันฉันพ่อลูกเป็นอย่างไร และในที่สุด ก็ได้มีการรวมตัวจัดตั้ง “Fathers’ Club” หรือคลับคุณพ่อ ที่มารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริม ความผูกพันกันทั้งระหว่างบุคคลในครอบครัว และสร้างประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรร เวลาจากตารางการทำงานที่แน่นเอี้ยดของพ่อ ๆ ออกมาให้ได้ และยังต้องเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานของทุกคนด้วย

    โดยคลับดังกล่าวนี้ มีความแตกต่างจากวงสังคมเดิมของนักธุรกิจญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิงครับ เนื่องจากเป็น การรวมตัวกันเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวและลูก ๆ ของตนเท่านั้น รวมถึงมี การอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย และที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ไม่มีการแลกนามบัตร ไม่มี Business Talk ซึ่งถือเป็นมารยาท ของคลับยอดคุณพ่อนี้เลยทีเดียว เรียกว่าโดยครอบครัวและเพื่อครอบครัวเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากครับ เนื่องจากตอนนี้ทั้งญี่ปุ่นมีคลับยอดคุณพ่อดังนี้ ออกมาไม่ต่ำกว่า สองพันแห่ง มีสมาชิกหลายหมื่นคนทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนผันในกระแสการดำเนินงานและการดำรงชีวิต ของคนในสังคมญี่ปุ่นอย่างมากทีเดียว

    โดยขณะนี้มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในออฟฟิศต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มที่จะใส่ใจในการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิต การงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และเล็งเห็นความจำเป็นของการมีเวลาว่างและใช้เวลาดังกล่าวในการทำกิจกรรมสาน สัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น จากเดิมที่หัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่ทำงานและทำงานเท่านั้น

    เหตุใดจึงทำให้คนญี่ปุ่นที่บ้างานอย่างมาก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนมากมายขนาดนั้น ซึ่งก็มาจาก แรงกดดันหลายประการครับ เริ่มจาก วัฒนธรรมในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากเน้นการจ้างงานแบบตลอดชีพ ก็เริ่มมีนโยบายการเลย์ออฟพนักงานมากขึ้น หรือ จากการเลื่อนตำแหน่งหรือพิจารณาความดีความชอบตาม ความอาวุโสและอายุงาน ก็เริ่มหันกลับมาพิจารณาที่ผลของงานโดยตรงมากขึ้น ไม่ให้ความสนใจกับอายุงานมากนัก ทำให้กระทบกับความมั่นคงในการทำงานโดยตรง

    มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นจึงเริ่มรู้สึกสั่นคลอนในการทำงาน ความจงรักภักดีก็ลดลง เริ่มจะไม่ทุ่มเทอย่างสุดกายถวายหัวเหมือนในอดีต หันเนื่องจากทำให้แทบตายก็อาจจะ คลอนแคลนได้อยู่ดี จึงหันกลับมาหาชีวิตส่วนตัวมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ กระแสสังคมที่เด็กรุ่นใหม่แดนอาทิตย์อุทัย เริ่มมีปัญหามากขึ้นทุกทีจนสัมผัสได้ 

    มีผลสำรวจ ของสถาบันวิจัยเด็กวัยรุ่นของญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า เด็กนักเรียนมัธยมของญี่ปุ่นมีแรงจูงใจแห่งความสำเร็จในชีวิตน้อย ที่สุดเมื่อเทียบกับชาติเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดทีเดียว โดยมีเด็กญี่ปุ่นเพียง 30% เท่านั้นที่มองว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมี ความสำคัญของต่อชีวิตในอนาคต เทียบกับจีนและเกาหลีใต้ที่มีสัดส่วนถึง 80 % ทีเดียว รวมถึง มีความทะเยอทะยานที่อยากจะเป็นผู้นำองค์กร เพียงแค่ 16% เทียบกับ ประมาณ 50% ของชาติอื่น ๆ ซึ่งมองว่าสาเหตุหลักมาจากการที่เด็กญี่ปุ่นไม่ค่อยใกล้ชิดกับครอบครัว โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่จะเป็นแบบอย่าง ในเรื่องของความก้าวหน้าต่าง ๆ ได้ จึงขาดกำลังใจในการพัฒนาตนเอง เนื่องจากไม่รู้จะไปแชร์ความชื่นชมนิยมยินดี กับใคร

    หากปล่อยให้เป็นลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ ความสามารถทางการแข่งขันของญี่ปุ่น ที่มีจากมันสมองชั้นเลิศของ คน ก็จะถดถอยลงไปและอนาคตคงจะเริ่มมืดมนลงไปอย่างแน่นอนครับ ดังนั้นการกลับเข้ามาใกล้ชิดกันของครอบครัว จึงเป็นสิ่งจำเป็น และรัฐบาลก็กำลังรณรงค์เรื่องนี้อย่างมาก เพื่อให้ครอบครัวกลายเป็นเบ้าหลอมพื้นฐานของคนญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งดังเช่นในอดีต ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มสัมฤทธิ์ผลบ้าง แล้วครับ

    จากการสำรวจล่าสุด มนุษย์เงินเดือน 20 % เน้นสร้างความสมดุลให้เวลากับชีวิตส่วนตัวและครอบครัว มากขึ้น ส่วนอีก 20% ยังคงบ้างาน ทำงานหนักหน่วงอยู่เหมือนเดิม ส่วนอีก 60% ยังอยู่ในขั้นของการค้นหาตัวเอง และ กำลังจะปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดำรงชีวิตและการทำงาน

    กรณีของญี่ปุ่น คงเป็นสิ่งเตือนใจบ้านเราได้อย่างดีเช่นกันครับ เนื่องจากแนวโน้มวัยรุ่นไทยเอง ก็มีความห่าง เหินจากครอบครัวมากพอสมควร ยิ่งภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนอย่างนี้ จะเห็นว่าแต่ละครอบครัวประสบปัญหา ความเครียดรุมเร้าไปตาม ๆ กัน สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้นำจึงต้องกลายเป็นเสาหลักให้สมาชิกรุ่นเยาว์ดำเนินรอบตาม แม้แต่ Workaholics อย่างคนญี่ปุ่น ยังต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่กระแสพอเพียงอย่างสมดุล ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเองก็น่าที่จะปรับใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำชีวิตสู่ความสมดุลในระยะยาวได้เช่นกันครับ




line