ดร. นิตยา นีรนาทโกมล |
16 กุมภาพันธ์ 2552 |
ทำไมต้อง 21 วัน
หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตน (self-development) หลายเล่ม หรือโปรแกรมการปรับปรุงพัฒนาสร้างความสำเร็จของคนมักจะอ้างอิงแผนปฏิบัติการ 21 วัน ผู้เขียนจึงได้รับคำถามว่า ทำไมต้อง 21 วัน
คนที่เป็นต้นฉบับของทฤษฎีนิสัยใน 21 วัน หรือ "21-Day Habit Theory" นี้ คือ Dr. Maxwell Maltz ซึ่งเขียนลงในหนังสือขายดีชื่อ Psycho-Cybernetics
ถึงแม้ทฤษฎีนี้จะถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2503 แต่สาระสำคัญของมันได้กลายมาเป็นต้นฉบับของการนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาจิตวิทยา และโปรแกรมการพัฒนาคนมาจนถึงทุกวันนี้
สาระสำคัญของทฤษฎีนี้ ก็คือ เรื่องที่การกระทำจะ "ตกผลึก" กลายเป็น "นิสัย" ได้ต้องกระทำต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 21 วัน และหัวใจสำคัญในทฤษฎีนี้ คือภาพลักษณ์ของตัวตนในจิต (self image) เราต้องเชื่อว่าเราเป็นคนอย่างที่เราปรารถนาจะเป็นได้
Dr. Maltz เป็นแพทย์ทางศัลยกรรมตกแต่ง ท่านพบว่าหลังศัลยกรรมแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งไม่เห็นตนเองเปลี่ยนแปลงดีขึ้น เนื่องจากคนไข้ยังมีภาพลักษณ์เดิมของตนในใจ อาทิเช่น คิดเห็นว่าตนไม่สวยพอไม่ดีพอ จึงไม่สามารถมีความสุขหรือความพึงพอใจกับภาพลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่านก็ได้สังเกตว่า คนที่สูญเสียแขนขา ซึ่งมักมีอาการที่เรียกว่า "Phantom syndrome" คือมีความรู้สึกเสมือนแขนหรือขานั้นยังอยู่แต่ไม่ปกติ บังคับไม่ได้ และเกิดความเจ็บปวดทรมาน ต้องใช้เวลาถึง 21 วัน จึงจะหลุดพ้นจากอาการนั้นมาได้ จากการศึกษาค้นคว้าต่อ ได้พบว่าคนเราต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 21 วัน จึงจะสามารถปรับตนเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียแขนขาหรือคนรัก การเปลียนงาน หรือแม้กระทั่งการเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ มาจนถึงการสร้างนิสัยใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 21 วัน
Dr. Maltz ให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ตัวตนในจิตมาก เพราะมันรวมถึงความเชื่อในความเก่ง ความดีและความด้อยในตัวคนนั้นเข้าไปด้วย ดังนั้น การกระทำ ความรู้สึก พฤติกรรม ตลอดจนความสามารถของคนนั้น จะสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตัวเขาในจิต ตราบใดที่ความเชื่อนี้ไม่เปลี่ยน พฤติกรรมของเขาก็จะถูกครอบงำอยู่ในความเชื่อหรือภาพลักษณ์เดิม และท่านเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวตนในจิตได้
เทคนิคง่ายๆ ในการทำตามทฤษฎีนี้ คือให้อุทิศเวลาอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน ในการกระทำที่เสริมสร้างนิสัยที่ต้องการ และทำต่อเนื่องจริงจังทุกวันเป็นเวลา 21 วัน จะเป็นนิสัยแบบใดก็ได้ ตั้งแต่เรื่องของสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ไปจนถึงเรื่องทัศนคติเช่นการปรับเปลียนการเรียนรู้และมุมมอง การนำเอาประสาทสัมผัสหลากหลายมาร่วมด้วย จะทำให้บรรลุผลได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรต้องการสร้างนิสัยการทำสมาธิ นอกจากการที่เราเอาใจจดจ่อแน่วแน่ในการทำจิตให้ว่างจริง ปราศจากความเร่งรีบหรือกังวล เราสามารถเสริมสร้างนิสัยการทำสมาธินี้ให้แข็งแกร่งขึ้นได้อีกในช่วง 21 วันนี้ ด้วยการแต่งตัวในชุดประจำ ในสถานที่ประจำ ในช่วงเวลาประจำ ในที่สมาธิประจำ และอาจใช้กลิ่นประจำจากเครื่องหอมหรือธูปที่ทำให้เราผ่อนคลายได้ด้วยยิ่งดี การใช้ประสาทสัมผัสยิ่งมากในการสร้างนิสัยใหม่ จะยิ่งทำให้ทางเดินประสาท (neural pathways) ของเราแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของ "นิสัย"
ดังนั้น การที่เราจะใช้มโนภาพในการกำหนดภาพลักษณ์ทางจิต (visualize) ให้เราทำให้ถึงขั้นสามารถรับรส กลิ่น เสียง ความรู้สึก ร่วมกับภาพที่เราสร้างให้ได้ คือให้สามารถเห็นได้สัมผัสได้เหมือนเกิดขึ้นจริง ส่วนการกำหนดการกระทำ ถ้าเราพลาดทำไปหนึ่งวัน ให้เราเริ่มทำใหม่ จนสามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วันในรวดเดียว
อย่าลืมหัวใจสำคัญของโปรแกรม 21 วัน อยู่ที่จุดเริ่มต้น คือการเปลี่ยนความเชื่อและภาพลักษณ์ของตัวตนในจิตใจให้เป็นอย่างที่เราต้องการพัฒนาไปให้ถึง ส่วนเวลา 21 วันเป็นส่วนที่ให้สมองมุ่งมั่นสั่งคิดสั่งปฏิบัติซ้ำๆ จนเกิดเส้นทางประสาทที่มีประสิทธิภาพและกลายเป็นนิสัย
สนใจการประยุกต์ใช้ Upper SCAN Emergenetics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทีมงานของคุณ คลิกที่นี่
--------------------------------------------- สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ info@UpperKnowledge.com โทร. 02-730-5589
|