วิสัยทัศน์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดร. สมบุญ บุญญาวนิชย์- อาจารย์พิเศษ การบริหารเชิงกลยุทธ์ ในระดับมหาบัณฑิต หลายมหาวิทยาลัย- วิทยากร บริษัท TAI Consultancy & Training จำกัด - กรรมการบริษัท พี.เอส.วี.การบัญชีภาษีอากร จำกัด - ผู้ริเริ่มกระบวนการ การพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์กร แบบ KTA Model การบริหารทรัพยากรมนุษย์(HRM) ภายใต้วิสัยทัศน์(vision) ขององค์การที่ผู้บริหารต้องการให้เป็นจริง และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ด้วยการใช้เทคนิคง่ายๆ จากแนวคิดไม่มีสู่มี จากเล็กสู่ใหญ่เริ่มด้วยการทดลองทำโครงการนำร่องให้เป็นแม่แบบ และเป็นการทดสอบความพร้อมในทุกๆด้านของทีมงาน ภายใต้ข้อจำกัด และประหยัดเงินลงทุน โดยมีตัวแทน(representatives)ทั้งจากฝ่ายบริหารระดับสูง ฝ่ายบริหารระดับกลาง และฝ่ายปฏิบัติการหน้างาน ที่มาจากทุกหน่วยงานทุกระดับที่มีส่วนในความสำเร็จ หรือล้มเหลวของโครงการ เข้ามามีส่วนร่วม(participatory) เป็นกระบวนการดำเนินงานแบบผสมผสาน(hybrid of implementation) ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์การในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ กระบวนการนี้จะมีผลลัพ์ทำให้เกิดการคิดนอกกรอบ(think out of the box) ขององค์การอย่างมีทิศทางได้ด้วยหัวใจของโครงการนำร่องนี้มีเป้าหมายมุ่งเน้นสร้างความสำเร็จขององค์การในระยะยาว มากกว่าความสำเร็จขององค์การในระยะสั้น ทีมงานของโครงการควรได้รับการฝึกอบรมเทคนิคการนำเสนอเชิงวิพากษ์(critical approaches)เชิงปฏิบัติการ ที่จะทำให้ทุกคนในทีมได้ใช้เหตุผลทางวิทยาการ และค่านิยมสร้างเหตุผลทางวาทกรรม(discourse rationality) เพื่อการสื่อสารกันอย่างมีเหตุผล(communicative rationality) ด้วยการให้มีโครงสร้างการสื่อสารเชิงอัตวิสัยระหว่างกัน(intersubjective structure of communication) ให้ทุกคนภายในทีมมีการเข้าถึงข้อมูล และใช้พลังความคิด ประสบการณ์ ในการปรับค่านิยมของตนเองให้สอดคล้องกับค่านิยมขององค์การ โดยร่วมกันถกแถลงให้เกิดความเข้าใจ และสร้างทางเลือกภายใต้ข้อจำกัดขององค์การเป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับทีมงานว่าพวกเราเป็นคนพิเศษ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความร่วมมือร่วมใจ ทำให้ทีมมีความสามารถมากขึ้นในการป้องกัน และแก้ปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น ทั้งยังสามารถพัฒนาโครงการนำร่อง(pilot project)ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้ผู้ร่วมงานมีความเข้าใจตรงกันในทิศทาง(direction)ของวิสัยทัศน์ ลดความสงสัยในเป้าหมาย(goal) และผลกระทบ(effect)ที่จะมีต่อพนักงาน ลดการโต้แย้ง(argumentative)ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และป้องกันความขัดแย้ง เป็นการอุดช่องว่างของสิ่งที่หายไป(missing link) ให้เข้าใจความสมบูรณ์ของวิสัยทัศน์ สร้างความไว้วางใจ และความเชื่อ ในการตัดสินใจของผู้ปฏิบัติ ให้มีความมั่นใจ และวางใจกันก่อนที่จะทำให้เกิดขบวนการขับเคลื่ยน(movement)การเปลี่ยนแปลง ทีมนี้จะเป็นแบบอย่างให้พนักงานทุกคนเกิดความเชื่อมั่น(confident) และนำไปขยายผลอย่างต่อเนื่องทั้งองค์การ ให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงเหตุผลทางวิทยาการ พร้อมทั้งเป็นการสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมองค์การใหม่ ในการมีส่วนร่วมแบบสร้างสรรค์เชิงวิพากษ์ ที่จะทำให้วิสัยทัศน์ขององค์การเป็นจริงได้ในที่สุด