หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา







search

Training and Seminar

Articles
นาโนเทคโนโลยี: ก้า้าวย่า่างทางธุรกิจทีี่ไม่อาจหยุดยั้ั้ง Share
By รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Published Date 14 กันยายน 2551

นาโนเทคโนโลยี: ก้าวย่างทางธุรกิจที่ไม่อาจหยุดยั้ง
รศ. ดร.
ธีรยุส วัฒนาศุภโชค
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      เมื่อสองปีก่อน เคยได้กล่าวถึงคลื่นลูกใหม่ทางธุรกิจที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในทศวรรษนี้ ซึ่งก็คือการรุกคืบเข้ามาของเทคโนโลยีนาโนนั่นเอง แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า นาโนกลับมาแรงและเร็วกว่าที่หลายๆสำนักคาดการณ์กันไว้มากนัก ดังนั้นไม่ว่าทุกภาคส่วน ล้วนแต่ได้รับผลกระทบและเกิดการตื่นตัวจากคลื่นยักษ์ลูกนี้กันถ้วนหน้าครับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์กรวิชาการและธุรกิจทั้งหลาย

      โดยความหมายของนาโนเทคโนโลยี นั้น คือ เทคโนโลยีขนาดเล็กจิ๋วที่มีขนาด 1 ต่อ 1 พันล้านของเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ถึง 80,000 เท่า พูดในลักษณะนี้ อาจจะยังไม่เห็นภาพอยู่ดีครับ ท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึงขนาดของเม็ดน้ำตาลทรายละเอียดเล็กๆ ที่เราใช้กันอยู่ตามบ้าน ซึ่งหนึ่งอนุภาคของนาโน เล็กกว่านั้นอีก 1 ล้านเท่า คงจะพอเห็นภาพว่าเล็กขนาดไหนครับ  โดยนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสูงมากขึ้นเรื่อยๆ กับทุกสิ่งทุกอย่างในการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบต่างๆ สารเคมี เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงโครงสร้างและกระบวนการต่างๆรอบตัวล้วนแล้วแต่ที่นาโนเทคโนโลยีจะเข้าไปมีส่วนได้ทุกประเด็นทีเดียวซึ่งงบประมาณที่ทุ่มเทไปสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนนี้ มีมหาศาลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2007 นี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาของนาโน จะยิ่งทวีคูณสูงขึ้นอย่าง
แน่นอน แค่ในอเมริกาแห่งเดียวก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเกือบสองเท่าแล้วและคาดว่าภายในปี 2010 เกือบทั้งหมดของบริษัทชั้นเลิศของโลก 500 บริษัทแรก จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันอย่างใดอย่างหนึ่งกับเทคโนโลยีนาโนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาโดยตรง การเข้าซื้อ หรือ ที่คาดว่าจะนิยมที่สุด คือ การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ซึ่งจะถือเป็นการเข้าสู่ยุคแห่ง “ธุรกิจนาโนเพื่อการพาณิชย์” อย่างแท้จริงครับ

      ภาคธุรกิจที่คาดว่านาโนเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างมูลค่ามากที่สุด ก็คือ ทางด้านการแพทย์สาธารณสุข และการดูแลสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็อยู่ในเทรนด์รักสุขภาพของประชากรส่วนใหญ่ของโลกด้วย ดีมานด์ทางด้านนี้ก็แน่นอนว่าจะมีการเติบโตที่สูงมากและเนื่องจากขนาดที่เล็กมากของอนุภาคนาโน ทำให้สามารถจะเข้ารักษาละสร้างเสริมสุขภาพได้ถึงในระดับเซลล์ทีเดียวครับ โดยขนาดโมเลกุลดีเอ็นเอเท่ากับ 2.5 นาโนมีเตอร์ ซึ่งทำให้อนุภาคนาโนเข้าไปช่วยเกี่ยวกับ การวิเคราะห์วินิจฉัยอาการต่างๆ รวมถึงการรักษาโรคร้ายที่ยังไม่มีวิธีการที่ดีในปัจจุบัน เช่น มะเร็งโดยจะสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด และรบกวนเซลล์ดีน้อยที่สุด หรือ จะเป็นการให้ผลิตยาที่มีส่วนผสมเหมาะกับดีเอ็นเอของคนไข้แต่ละคน เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิวัติวงการแพทย์และสุขภาพทีเดียว

      อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มองว่าเทคโนโลยีนาโน จะเข้าไปมีบทบาทไม่แพ้กันก็คือ การพัฒนาเข้าสู่ Green Technology ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้ช่วยลดมลภาวะ ลดกากของเสียที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึง ลดการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมลงได้อย่างมากด้วย ซึ่งผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติเทคโนโลยีนาโน จะช่วยเร่งกระบวนการในการบำบัดน้ำเสีย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ทำให้มีอายุยาวนานหลายปีไม่ต้องเปลี่ยนกากของเสียก็ลดลงไปด้วย หรือทำให้โซล่าร์เซลล์ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก  อันจะนำไปสู่การสร้างเซลล์พลังงานทดแทนที่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ช่วยลดการใช้พลังงานจากซากพืชซากสัตว์ลง ปริมาณการปล่อยของเสียสู่ชั้นบรรยากาศก็จะลดลง โดยเฉพาะการบรรเทาปัญหาโลกร้อนจากภาวะเรือนกระจก คาดว่าเทคโนโลยีนาโนจะมีบทบาทอย่างมากในการรับมือก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนยากที่จะควบคุม

      ส่วนภาคสุดท้ายที่ดูจะใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนมากที่สุด ก็คือ การนำเทคโนโลยีนาโนเข้าสู่การผลิตสินค้าคอนซูเมอร์โพรดักส์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ดูจะก้าวหน้าไปมาก บริษัทข้ามชาติต่างก็ลงทุนขนานใหญ่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับนาโน อาทิ อินเทล เอเอ็มดี เฮชพี โมโตโรลลา เป็นต้น  ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าจะเป็นตัวชูธงรุ่นแรกๆ ประกอบด้วย ชิป พีซี โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ้ค พีดีเอ ไอพ็อด รวมถึงการนำเข้าไปเป็นส่วนผสมทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงขึ้น ยางรถยนต์ที่ทนทาน น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น เครื่องยนต์กลไกที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เครื่องบินที่มีน้ำหนักเบาแต่ทนทานขึ้น ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีนาโนเข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคประจำวันอีกด้วย ที่ยอดนิยม เช่นเครื่องสำอางและครีมที่มีอนุภาคขนาดเล็กช่วยเข้าไปทำการออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น อุปกรณ์กีฬาที่มีน้ำหนักลดลง แต่มีความแข็งแกร่งสูงขึ้น เส้นใยเสื้อผ้าชนิดใหม่ที่ไม่ยับ และสามารถขจัดคราบรอยเปื้อนได้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่กระจกที่สามารถทำความสะอาดคราบต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง   

      ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับของบริโภคอาหารเครื่องดื่มต่างๆ ก็เริ่มจดๆจ้องๆที่จะนำเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่จะเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย อาหารเสริมที่สามารถแทรกชอนไชเข้าไปออกฤทธิ์ได้ถึงระดับเซลล์อณูเล็กๆ เป็นต้น ซึ่งก็คาดว่าจะเป็นที่นิยมอย่างมากในอนาคต  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ธุรกิจนาโนอาจมีศักยภาพการเติบโตและสร้างผลตอบแทนสูง แต่ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้ธุรกิจนาโนอาจจะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมและผู้บริโภค คงต้องมีการยืนยันชัดเจนว่า นาโนเทคโนโลยีต้องมีความปลอดภัยในระยะยาว มิฉะนั้นอาจจะได้รับผลกระทบเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีอาหาร GMO ซึ่งได้รับการต่อต้านในวงกว้างอย่างมาก ทำให้ตลาดของ GMO ไม่ได้เติบโตสูงอย่างที่คาดไว้
     
      ธุรกิจในบ้านเราเอง ก็ควรต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาตัวเอง เพื่อไขว่คว้าโอกาสในตลาดโลกเช่นกัน และคงต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วย อย่าให้ตกขบวน มิฉะนั้นอาจจะบั่นทอนความสามารถทางการแข่งขันของไทยในอนาคตและปล่อยให้กิจการจากประเทศอื่นแซงหน้าไป กิจการต่างๆจึงควรเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังนับแต่วันนี้ครับ

บทความพิเศษจากนิตยสาร MBA April 2007




line