กรุยทาง......สู่ความเป็นหนึ่งรศ. ดร. ธีรยุส วัฒนาศุภโชครองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศชาติตอนนี้ถือว่ากำลังอยู่ในระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวานครับ เพราะสารพัดปัจจัยลบ ทำให้บรรยากาศทุกด้านของประเทศอึมครึม ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก และบ้านเมืองเราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ถูกหลายๆประเทศแซงหน้าไปแล้ว อีกทั้งยังมีเพื่อนบ้านที่กำลังบ่มเพาะขุมกำลังที่น่ากลัวอย่างเวียดนาม ก็ไม่รู้ว่าวันใดจะพุ่งขึ้นแซงหน้าไปอีกหรือไม่ จึงนำแนวคิดจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาพูดคุยกันครับ ว่าเหตุใดจึงทำให้ประเทศหนึ่ง มีระดับการพัฒนาและความมั่งคั่งมั่นคงสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาถึงตรงนี้หลายๆท่านคงนึกถึงหลากหลายปัจจัยครับ เริ่มจากทรัพยากรที่แต่ละประเทศมี ซึ่งก็ไม่เสมอไปนะครับ เพราะประเทศต่างๆที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ประมาณค่าไม่ได้ อาทิ พลังงาน น้ำมัน หรือแร่ธาตุมีค่าควรเมืองต่างๆ อย่างหลายประเทศในตะวันออกกลางที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบ หรือ ประเทศในอาฟริกาที่รุ่มรวยไปด้วยทองคำและอัญมณีสารพัดรูปแบบ ก็ยังประสบปัญหาความยากจนข้นแค้นและด้อยพัฒนามากมายหรือในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ แถมมีขนาดเล็กกะจิดริดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน กลับมีความเจริญรุดหน้าแซงหน้าเพื่อนบ้าน ผงาดขึ้นไปเทียบเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาอารยะประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ มูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีจึงไม่น่าจะ เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศครับ หรือแม้แต่รากฐานอารยธรรมแต่ดั้งเดิมที่เคยมีมา ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้ครับ เพราะประเทศที่มีอารยธรรมประวัติศาสตร์เกรียงไกรมายาวนานอย่าง อียิปต์ อินเดีย ฯลฯปัจจุบันก็ยังยากจนและยากลำบากอยู่พอสมควร ในขณะที่ประเทศยุคใหม่ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังให้เท้าความกลับไปจนถึงยุคโบราณ อย่าง แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา กลับมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้าจนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกไป ดังนั้น ปัจจัยที่มองว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อการพัฒนามาก ก็คือ “คน” นั่นเอง ซึ่งในที่นี้ มิได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ หรือ สติปัญญาของคนในแต่ละประเทศนะครับ เพราะทุกเชื้อชาติเผ่าพันธ์ก็ถือว่ามีความสามารถและมีศักยภาพในการพัฒนาเท่าเทียมกัน ประเทศที่มีแรงงานหลากหลายจากสารพัดเชื้อชาติ ก็ไม่เห็นความแตกต่างในเชิงความสามารถของแรงงานหลากเผ่าพันธุ์นั้น ผลสรุปจึงกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ “คน” แตกต่างกัน ก็คือ วิธีคิด ความเชื่อ ปรัชญาและทัศนคติในการดำรงชีวิตนั่นเอง ที่ทำให้คุณภาพของคนมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศและทำให้ระดับการพัฒนาแตกต่างกันอย่างมากด้วยครับ จึงมีการรวบรวมคุณลักษณะของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ว่าประกอบด้วยลักษณะใดบ้าง ประการแรก เริ่มจาก การมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะร่วมที่เหล่าประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายยึดถือกันมาก โดยมองว่าหากทุกคนดำเนินชีวิตและธุรกิจอยู่กับร่องรอยแบบแผนที่เหมาะสม การละเมิดซึ่งกันและกันก็จะน้อย โอกาสที่เราจะเอาเวลาไปทุ่มเทกับการพัฒนาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นก็มีสูงตามไปด้วยครับ จึงทำให้ประเทศโดยองค์รวมเกิดการต่อยอดของกิจกรรมเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้นไปอีก ดังเช่น แบบแผนการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทำให้บ้านเมืองมีความโปร่งใส และสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ จนทำให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้รับความนิยมในการฝากเงินสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่อื่นๆ ทั้งๆที่เป็นประเทศขนาดเล็ก มิได้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และประเทศไม่มีทางออกทะเลด้วยซ้ำครับ ประการที่สอง ความมีระบบระเบียบวินัย เคารพกฎระเบียบ รวมถึงเคารพสิทธิของผู้อื่น ยึดมั่นกับสิ่งที่สังคมโดยส่วนรวมเห็นพ้องต้องกันว่าดี และมีประสิทธิภาพนั่นเอง มิใช่อยากทำอะไรตามใจก็ได้ ตราบใดที่ตัวเองมีความสุขสนุกสนาน อันนี้น่าจะเป็นการบั่นทอนการพัฒนาเชิงองค์รวมของประเทศไปมากทีเดียวครับ กรณีนี้เราคงจะพบเห็นได้จากหลายๆประเทศในตะวันตก รวมถึงเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ ที่มีความเคารพในกฎระเบียบของสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้ทุกคนในสังคมมีการก้าวเดินไปในทิศทางที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เกะกะระรานกัน ไม่เอาความต้องการของตนเองหรือคนส่วนน้อยเป็นที่ตั้ง ทำให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วและปราศจากปัญหารกรุงรังระหว่างการดำเนินตามแนวทางดังกล่าว ประการถัดมา คือ ต้องมีความรับผิดชอบในงาน รักงานและและเห็นคุณค่าของงาน มีค่านิยมเลยว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน อาจดูเป็นวลีที่ไม่ล้ำสมัยนัก แต่ยังใช้ได้จริงอยู่ตลอดเวลาครับ เพราะเน้นย้ำว่าทุกคนย่อมมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และต้องทำให้ได้ตามความคาดหมาย จึงจะเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมและสภาพแวดล้อม อาทิ สังคมของญี่ปุ่น ที่ยึดมั่นในเรื่องของคุณค่าของคนจากงานและความรับผิดชอบอย่างมากกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำงานหนักที่สุดในโลก ซึ่งผลก็คือความบากบั่นพากเพียรและนำประเทศสู่ความสำเร็จเฉกเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้ ความทะเยอทะยาน มุ่งพุ่งตรงสู่ความเป็นหนึ่ง ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา เนื่องจากประชาชนทุกคนถือเป็นขุมกำลังหลักที่จะช่วยผลักดันให้กิจการมุ่งตรงสู่ความก้าวหน้า โดยหลายๆประเทศที่ยังไม่ไปถึงไหน ส่วนสำคัญเลยก็เนื่องจากประชาชนดูสบายๆ ใช้ชีวิตแบบยังไงก็ได้ ไม่ต้องดิ้นรนมากนัก และ ไม่ซีเรียสว่าในอนาคต ตัวเองจะต้องไปอยู่ตรงจุดไหน ต้องพัฒนาตนเองอย่างไร เมื่อขาดการดิ้นรน ก็ยากที่จะฝ่าฟันสารพัดอุปสรรคสู่ความเป็นเลิศครับ ท้ายที่สุด คือ ความตรงต่อเวลา ซึ่งตรงจุดนี้ เป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะแถบตะวันตกถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด โดยในหลายๆวัฒนธรรมมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก แต่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมเหล่านั้น จะเห็นได้ว่ายากที่จะนำพาสู่ความก้าวหน้าได้ เพราะหากแค่เวลายังรักษาไว้ไม่ได้ สิ่งอื่นๆที่ยากกว่านี้ก็คงไม่ได้เอ่ยถึงครับ ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งครับ ซึ่งการจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศของบ้านเรานั้น ก็อาจจะได้ไอเดียดีดีจากแง่มุมต่างๆที่กล่าวข้างต้นได้ โดยทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็หนีไม่พ้น “คน” ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุดนะครับ ดังนั้นเราลองมาร่วมปลูกฝังคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นกัน เริ่มจากพวกเราทุกคนก่อน ก็น่าจะทำให้ประเทศโดยรวมพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต
ที่มา