www.rd.go.th |
15 กรกฎาคม 2551 |
1. การจัดทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่ายของบุคคลธรรมดาที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม - เป็นผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง - เป็นผู้ประกอบการที่มีเงินได้มาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายประจำวัน ซึ่งเรียกว่า “รายงานเงินสดรับ-จ่าย” - ประโยชน์ของการจัดทำ “รายงานเงินสดรับ-จ่าย” จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบรายได้ รายจ่าย และผลกำไร นอกจากนั้น ยังนำไปใช้ประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ด้วย
2. การหักค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - ผู้ประกอบการที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี หรือเงินได้ประจำปีภาษี สามารถเลือกหัก ค่าใช้จ่ายเหมา ในอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมิน ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับเงินได้มาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงได้ หากค่าใช้จ่ายจริงสูงกว่าค่าใช้จ่ายเหมา - อัตราการหักค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับเงินได้มาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร จะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 11 สำหรับเงินได้มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 11 จะต้องหักค่าใช้จ่ายจริงเท่านั้น - การหักค่าใช้จ่ายตามจริง ให้นำมาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาบังคับใช้โดยอนุโลม
3. กิจการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ - กิจการที่เป็นขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ - การขายปลีก เป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อนำไปบริโภคหรือใช้สอย มิได้มีวัตถุประสงค์ นำไปขายต่อ เช่น ขายของชำ ขายยา ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น - การให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร โรงแรม ซ่อมแซมทุกชนิด เป็นต้น
4. ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี หากขายสินค้าหรือให้บริการครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขายสินค้าหรือการให้บริการรายย่อยที่ประกอบกิจการดังนี้ - ขายสินค้าหรือให้บริการ ไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีเดือนใดถึง 300,000 บาท หรือ - ขายสินค้าหรือให้บริการ ที่มีสถานประกอบการเป็นรถเข็น แผงลอย หรือหน่วยขายลักษณะทำนองเดียวกันหรือ - การให้บริการแสดง การเล่น การกีฬา การแข่งขัน การประกวด หรือลักษณะทำนองเดียวกัน ที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดู ผู้ฟัง ผู้เล่น หรือผู้เข้าแข่งขัน หมายเหตุ ผู้ประกอบการรวบรวมมูลค่าการขายหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ใน 1 วันทำการเพื่อจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อเพียง 1 ฉบับ เพื่อใช้ประกอบการลงรายงานภาษีขาย **กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้องขอใบกำกับภาษี จะต้องออกใบกำกับภาษีให้
5. ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท - เป็นสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอนุมัติเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ** หากผู้ซื้อน้ำมันร้องขอใบกำกับภาษี จะต้องออกใบกำกับให้
6. การออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งใน 1 วัน - สามารถออกใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวใน 1 วันทำการได้
7. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในแต่ละวันตั้งแต่ 100 ฉบับขึ้นไป - หากได้จัดทำรายงานสรุปการขายประจำวันไว้ ไม่ต้องลงรายงานภาษีขายเป็นรายใบกำกับภาษี จะลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวัน ในรายงานภาษีขายได้ และต้องลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี
8. การลงรายการรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ - ลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ได้รับ หรือพึงได้รับ และให้ลงรายการภายใน 3 วัน - ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และรายการสินค้าหรือบริการ
9. ขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน (ภ.พ.30) - โดยปกติผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นแบบเสียภาษี (ภ.พ.30) เป็นรายสถานประกอบการ กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง - ผู้ประกอบการสามารถขออนุมัติยื่นแบบและชำระภาษีรวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ หรือสาขาใดสาขาหนึ่งได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ** การจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้จัดทำเป็นรายสถานประกอบการ ไม่ว่าจะ ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบและชำระภาษีรวมกันหรือไม่
10. หลักฐานประกอบรายจ่าย กรณีผู้รับเงินไม่มีใบเสร็จรับเงินให้ - รายจ่ายต่าง ๆ ที่จ่ายให้บุคคลธรรมดาทั่วไป เช่น ค่าแรงงาน โดยปกติผู้รับเงินไม่ออกหลักฐานการรับเงินให้ ทางออกก็คือให้ผู้จ่ายเงินทำเอกสารโดยระบุ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้รับเงิน การจ่ายเงินเป็นค่าอะไร จำนวนเงินเท่าไร วัน เดือน ปี ที่รับเงิน พร้อมลงลายมือชื่อของผู้รับเงิน หรือจะมีสำเนาบัตรประชาชน ประกอบหลักฐานด้วยจะดียิ่งขึ้น
ที่มา : กรมสรรพากร
|