หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา







search

Training and Seminar

Articles
การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) Share
By ดร.ภาณุ เชาว์ปรีชา Upper Knowledge Executive Coach
Published Date 10 พฤษภาคม 2558

     ในโลกธุรกิจ ทั้งการคิดและการลงมือทำเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน บางคนลงมือทำโดยไม่ต้องคิดมาก เพราะเชื่อว่าไม่ลอง ไม่รู้ มีปัญหาก็แก้ไขกันไป หลายคนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสม โชคช่วย หรือด้วยความสามารถ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลว และไม่ได้ออกมาประกาศเชิญชวน เหมือนอย่างคนที่ประสบความสำเร็จว่า “ลงมือทำเลยสิ อย่ามัวแต่คิด” หรือ “ในระหว่างที่คุณกำลังคิด คู่แข่งของคุณก็ทำแซงหน้าไปแล้ว”

chess2.jpg

     อย่างไรก็ดี หลายคนที่คิดตรึกตรองก่อน แล้วจึงปฏิบัติให้เกิดผลก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย แต่ในการคิดนั้น สิ่งสำคัญคือผลผลิตของความคิด ซึ่งจะออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ ความรู้ ประสบการณ์ ดังนั้นหากเรามีเครื่องมือที่ช่วยในการคิด ก็สามารถพัฒนาผลผลิตทางความคิดให้ดีขึ้นได้

ในการแข่งขันนั้น การคิดได้ดีขึ้นก็ยังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องคิดที่นำไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้เป็นอย่างดี และนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งการคิดลักษณะนี้คือ “การคิดเชิงกลยุทธ์” ซึ่งหากอธิบายให้เป็นภาพ การคิดเชิงกลยุทธ์นั้นเป็นการบรรจบกันของ

1) วิสัยทัศน์ คือการมองไปในอนาคต คาดหมายถึงแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล
2) การคิดในเชิงระบบ คือ การมองเห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงขึ้นเป็นภาพใหญ่ รวมถึงมองออกว่าจะสามารถไปบริหาร จัดการองค์ประกอบใดบ้าง ในการที่ทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย
3) การคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ    ความสามารถในการ ผสม ประยุกต์ ดัดแปลง พลิกแพลง ไอเดียต่าง ๆ เพื่อสร้างทางเลือกที่เหมาะสม และนำไปสู่การตัดสินใจนำไปปฏิบัติขั้นสุดท้าย ที่จะสร้างผลลัพท์ได้อย่างที่องค์กรคาดหวัง

     สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์คือ “การตั้งคำถาม” ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นการถามตัวเอง หรือ ถามเพื่อนร่วมงาน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาความคิด ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างประสบการณ์ในการตั้งคำถาม ที่ได้ถามกับผู้บริหารและพนักงานขององค์กรชั้นนำ ในหลากหลายอุตสากรรม ที่นำไปสู่การคิดและวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางอุตสาหกรรมดังนี้


digital tv.jpg

อุตสาหกรรมดิจิตอลทีวี
     ใน 3 ปีข้างหน้า ภาพของอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร จะมีเหลือผู้เล่นกี่ราย กลุ่มช่องชั้นจะนำเป็นใคร กลุ่มช่องระดับกลางจะปรับตัวอย่างไร กลุ่มช่องที่ไม่ประสบความสำเร็จน่าจะมีใครบ้าง และคาดว่าเขาจะเอาตัวรอดอย่างไร งดจ่ายค่าสัมปทาน? ขายกิจการให้คู่แข่ง? ขายให้ทุนต่างประเทศ? หรือให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้บริหาร? เราคิดว่าเราจะอยู่กลุ่มไหน? (แน่นอนว่าแทบทุกช่องมุ่งไปอยู่กลุ่มชั้นนำ ซึ่งในความเป็นจริง ก็จะเป็นได้เพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น) การจะขึ้นไปอยู่ในกลุ่มชั้นนำ จะต้องวางตำแหน่งตัวเองอย่างไร? จะเน้นข่าว เน้นละคร เน้นเกมโชว์ เน้นความคิดสร้างสรรค์ เน้นดารา หรืออย่างไร? จะทำอย่างไรให้สามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาให้ได้เทียบเท่าช่องชั้นนำ?


convenience store.jpg

อุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อในปั๊ม ปตท.

     วันนี้ 7-11 เข้ามาอยู่ในปั๊มปตท. คิดว่าคนเข้าปั๊มเพราะปตท. หรือ 7-11 มากกว่ากัน? นอกจากร้าน 7-11 ในปั๊ม ปตท.แล้ว เราสามารถนึกออกหรือไม่ว่าร้าน 7-11 ที่หาที่จอดรถได้สะดวกเท่าในปั๊มจะมีที่ไหนอีก? วันนี้ 7-11 มี 8,000 กว่าสาขา ในขณะที่ปั๊ม ปตท. มีอยู่ 1,000 กว่าปั๊ม ถามว่า ถ้า ปตท. ทะยอยเปลี่ยน ร้าน 7-11 ในปั๊มทั้งหมดให้กลายเป็น Jiffy สามารถทำได้หรือไม่? (แน่นอนคำตอบคือทำได้) พอถามคน ปตท.ว่าแล้วจะทำหรือไม่ ได้คำตอบคือ “ไม่ทำ” เราไม่เชี่ยวชาญด้านค้าปลีก ผู้เขียนถามต่อว่า ไม่เชี่ยวชาญแล้วทำไม ปตท. ถึงทำ ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ร้านกาแฟ Amazon และโดนัท Daddy Dough (ที่เพิ่งไปซื้อกิจการเข้ามา) คำตอบของคน ปตท. ส่วนใหญ่ในห้องเรียนคือ “นั่นน่ะสิ” ผู้เขียนถามต่อว่า ถ้าเครือข่ายร้านค้าปลีกสักเครือข่าย จะขยายสาขาขึ้นเป็น 1,000 สาขาอย่างรวดเร็ว ในทำเลที่ใช่ มีคนเข้าแน่ ๆ จะมีใครทำได้ดีกว่าปตท. ไหม คือตอบคือ “ไม่น่ามี” และคำถามที่น่าสนใจคือ ถามว่าสมมติคุณตัน (อิชิตัน) มาเป็นผู้รับผิดชอบกิจการค้าปลีกทั้งหมดในเครือ ปตท. คิดว่าคุณตัน จะคิดทะยอยเปลี่ยน 7-11 ในปั๊มให้กลายเป็น Jiffy หรือไม่ คำตอบเป็นเอกฉันท์คือ “คิด” ผู้เขียนจึงยิงคำถามปิดท้ายว่า แล้วทำไมเราถึงไม่คิด?


     โดยสรุปความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ยิ่งหมั่นหาความรู้ และหัดใช้เทคนิคช่วยในการคิดต่าง ๆ ก็จะช่วยให้เกิด “การตัดสินใจ” ที่ดีขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติและผลลัพธ์ที่คาดหวัง

By
ดร.ภาณุ เชาว์ปรีชา
Upper Knowledge Executive Coach
Specialist ด้านการบริหารกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และการบริหารการเงิน
Certified General Management จาก Harvard Business School




line