หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา
 






search

Training and Seminar

Articles
Competency คืออะไร ?? Share
By ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
Published Date 16 พฤษภาคม 2553

Competency คืออะไร ??
โดย อ. ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์

     เราคงเคยได้ยินคำว่า “Put the right man to the right job” กันมาตั้งแต่สมัยก่อนจวบจนมาจนถึงปัจจุบัน เราก็ยังคงได้ยินกันอยู่ ซึ่งคำ ๆ นี้ก็เป็นหลักการในการบริหารงานทั่วไปที่ควรจะเป็น แต่หลักการหรือทฤษฎีเมื่อนำมาปฏิบัติแล้วจะพบว่าในบางครั้ง(หรือหลาย ๆ ครั้ง)ไม่ง่ายอย่างที่ว่าไว้ เช่น เมื่อเราจะนำมาปฏิบัติก็จะมีคำถามอยู่เสมอ ๆ ว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็น “The right man” หรืองานไหนเป็น “The right job” ที่จะเหมาะสมกับ The right man เพราะบ่อยครั้งที่เมื่อเรา Put the right man ที่ผู้บริหารขององค์กรก็พิจารณากลั่นกรองเป็นอย่างดีแล้วว่าเหมาะสมกับงานนั้น ๆ แต่เมื่อทำ ๆ ไปกลับพบว่าสิ่งที่คาดหวังไว้กลับไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว ดังนั้นคำว่า “Competency” จึงเกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

ความหมายของ Competency
     เคยถามตัวเองไหมครับว่าทำไมองค์กรจึงตัดสินใจจ้างเรามาทำงาน ? แต่ละท่านอาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไปตามความคิดเห็นของแต่ละคน แต่เมื่อเราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้วต่างคนก็จะต้องเป็นตัวจักรที่สำคัญตัวหนึ่งในการผลักดันและเสริมสร้างองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ใช่ไหมครับ ? องค์กรก็ย่อมจะมีความคาดหวังในตัวพนักงานทุก ๆ ว่าเมื่อเวลาผ่านไป พนักงานจะต้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีศักยภาพ มีคุณสมบัติตลอดจนทักษะในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุงานไปด้วย ซึ่งความคาดหวังขององค์กรนี้ก็น่าจะเป็นความคาดหวังของพนักงานด้วยใช่ไหมครับ ? คงไม่มีใครไม่อยากจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วมาเป็นแน่

     จากที่ผมพูดมาข้างต้น ในปัจจุบันจึงมีแนวความคิดในเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า “Competency” เกิดขึ้น ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ หากจะรับพนักงานเข้ามาทำงานในตำแหน่งงานนั้น ๆ แล้ว ในตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการคุณสมบัติใดหรือต้องการศักยภาพใดจากผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งบ้าง เพื่อที่จะนำไปใช้ในการสร้างความสำเร็จให้เกิดกับองค์กร

Job description กับ Competency
     แต่เดิมในองค์กรต่าง ๆ ก็คงจะต้องมี JD หรือที่เรียกกันว่า Job description หรือ ใบพรรณนางาน เพื่อบอกลักษณะของงานในแต่ละตำแหน่งงานใช่ไหมครับ ? ซึ่ง JD มักจะถูกเขียนโดยเจ้าของตำแหน่ง(คือผู้ดำรงตำแหน่ง)โดยให้คำนึงถึง “เนื้องาน” มากกว่าผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่ง JD ดังกล่าวก็มักจะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
     1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชื่อของผู้ดำรงตำแหน่ง,ชื่อตำแหน่งงาน,ระดับชั้น,หน่วยงาน/แผนก/ฝ่าย
     2. หน้าที่ และความรับผิดชอบของงาน โดยอธิบายไว้ว่างานใดจะใช้เวลาในการทำกี่เปอร์เซ็นต์ (เมื่อรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100 เปอร์เซ็นต์)
     3. คุณสมบัติทั่วไปของผู้ดำรงตำแหน่ง เช่น ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ควรจะมีคุณวุฒิขั้นต่ำเท่าใด,อายุงานขั้นต่ำ,ความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศหรือคอมพิวเตอร์, ฯลฯ จากทั้ง 3 ส่วนที่ผมกล่าวมานี้ ส่วนที่สำคัญที่สุดใน JD ก็จะหนีไม่พ้นส่วนที่ 2 คือ เรื่องของหน้าที่และ ความรับผิดชอบในงานในตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ทราบว่า ตำแหน่งงานนั้น ๆ มีงานอะไรจะต้องทำหรือรับผิดชอบบ้าง

     แต่เมื่อมี Competency เข้ามาเพิ่ม นั่นก็คือ JD จะต้องเพิ่มส่วนที่ 4 คือส่วนที่เกี่ยวกับความคาดหวังจากองค์กรในตำแหน่งงานนั้น ๆ เพิ่มเติมขึ้น นอกเหนือจากงานและความรับผิดชอบในส่วนที่ 2 ของ JD ครับ ดังนั้นถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ องค์กรจะต้องเพิ่มส่วนที่ 4 Competency เข้าไปใน JD โดยเขียนสิ่งที่องค์กรคาดหวังจากผู้ดำรงตำแหน่งนั้น เพิ่มเติมลงไปนั่นเอง

ประเภทของ Competency
     ในส่วนของ Competency ที่องค์กรจะเพิ่มเติมในตำแหน่งงานต่าง ๆ นั้น เราสามารถแบ่งประเภทของ Competency ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 

Core competency
เป็นความสามารถพื้นฐานทั่ว ๆ ไปที่ทุกตำแหน่งงานควรจะต้องมี เช่น ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท,จิตสำนึกในการให้บริการลูกค้า เป็นต้น

Technical/Functional Competency
เป็นความสามารถหรือศักยภาพที่เกี่ยวกับงานที่ตำแหน่งงานนั้น ๆ จะต้องมี เช่น ในตำแหน่งที่เป็นระดับผู้บริหารระดับสูงจะต้องมี Competency ในด้าน ความคิดเชิงกลยุทธ์,การบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ,วิสัยทัศน์ ฯลฯ หรือ ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ควรจะต้องมี Competency ในด้าน Leadership,ความสามารถในการวางแผนงานให้สอดคล้องกับแผนงานธุรกิจของบริษัท(Corporate Planning) หรือ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ จะต้องมี Competency ในเรื่อง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์,ความสามารถในการประสานความร่วมมือในทีมงาน,ความละเอียดถี่ถ้วนถูกต้องและซื่อสัตย์ เป็นต้น

ประโยชน์ของ Competency
     เมื่อมีการกำหนด Competency ที่ชัดเจนให้กับพนักงานในทุกตำแหน่งงานได้ทราบแล้ว จะทำให้พนักงานทราบถึงความคาดหวังขององค์กรที่มีต่อตำแหน่งงานนั้น ๆ ในขณะที่หากพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ลาออกไป การสรรหาและคัดเลือกผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน(ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครจากภายนอกหรือจากพนักงานภายในก็ตาม) จะมีเกณฑ์ในการสรรหาคัดเลือกได้ดีกว่าการมี JD เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนก็จะทราบว่าความคาดหวังในตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการคุณสมบัติใดบ้างและตนเองจะเหมาะสมหรือสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ นอกจากนี้การกำหนด Competency ในทุกตำแหน่งงานอย่างชัดเจนจะสามารถสอดคล้องเชื่อมโยงกับระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานได้ โดยการนำ Competency มาเป็นเกณฑ์(Criteria) ในการวัดผล ซึ่งจะทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความถูกต้องใกล้เคียง(Accuracy) มากยิ่งขึ้น

สรุป
     เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าในปัจจุบันและยุคต่อไป การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงกันไม่ได้ ซึ่งแต่ละองค์กรต่างก็แสวงหา “ตัวช่วย” (Tools) หรือ วิธีการในการบริหารจัดการใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อปรับปรุงพัฒนาพนักงานในองค์กรของตนเพื่อค้นหาศักยภาพและคุณสมบัติที่ดีที่สุดของพนักงานออกมาเพื่อผลักดันองค์กรให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน และทำให้องค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำ Competency มาใช้กันอย่างแพร่หลายในองค์กรต่าง ๆ โดยพนักงานก็จะรับทราบว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากตนเองบ้าง ในขณะที่องค์กรก็จะสามารถวัดผลการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หน่วยงานของท่านล่ะ….มีการนำ Competency มาใช้บ้างแล้วหรือยัง ??



line